ปัจจุบันเทรนด์ของโลก ที่เส้นแบ่งระหว่างการทำงานกับการพักผ่อนเริ่มเลือนรางลง การเข้าร่วมงานแต่ละครั้งไม่ใช่แค่เพื่องานหรือธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องมีจุดหมายปลายทางที่สามารถพักผ่อนหย่อนใจได้ไปในตัว สำหรับผู้จัดงานไมซ์ที่พยายามสร้างมาตรฐานในการจัดงานเพื่อดึงดูดนักเดินทางธุรกิจจนกลายเป็นว่างานไมซ์ที่เกิดขึ้นนั้นมักมีหน้าตาคล้าย ๆ กันไปหมด ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นหรือเป็นที่น่าจดจำเสียเท่าไร การใช้เรื่องราวท้องถิ่นมาถ่ายทอดและบอกเล่าผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ ในการจัดงาน (localisation) จึงกลายเป็นเทรนด์ที่ผู้จัดงานไมซ์ทั้งหลายเริ่มใช้กันอย่างจริงจังแล้วก็ได้ผลดีเสียด้วยสิ
มาแล้วต้อง “ถึงที่”
สิ่งแรกที่ต้องคำนึงเมื่อจะ localise งานไมซ์นั่นคือ ให้ผู้ร่วมงานรู้สึกมา “ถึงที่” (sense of place) จุดหมายปลายทางนั้นจริง ๆ อย่างเช่นงาน IT & CMA and CTW Asia-Pacific 2019 งานเทรดโชว์ด้านไมซ์ประจำปีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่จัดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีธีมงานเลี้ยงตอนรับคือ Bangkok Art Night Out จัดที่หอศิลป์กรุงเทพฯ โดยใช้เรื่องราวของ “กรุงเทพฯ” ผ่านมุมมองศิลปะการแสดงร่วมสมัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวท้องถิ่นมาใช้เล่าผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ ในงาน ตั้งแต่การตกแต่งสถานที่ด้วยชุดโต๊ะไม้ไผ่สำหรับไว้นั่งรับประทาน street food ไฟนีออนสีฉูดฉาดดนตรีสดในงานที่ได้วงหมอลำร่วมสมัยมาแสดง ซุ้มยาดองที่คนต่อคิวกันยาวเหยียดและผลงานศิลปะที่วางตามจุดต่าง ๆ ในงานเพื่อบอกเล่าเรื่องราวกรุงเทพฯ ในมุมมองของศิลปินและผู้ร่วมงานยังได้มีโอกาสพูดคุยกับศิลปินเหล่านั้นด้วย ทุกอย่างล้วนสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ที่มาร่วมงานได้มา “ถึงที่” กรุงเทพฯ จริงๆ
เรา + ชุมชน = ได้กับได้
จะทำให้ผู้ร่วมงานรู้สึกมา “ถึงที่” ได้ก็ต้องใช้เรื่องราวและองค์ประกอบต่าง ๆ จากท้องถิ่นของจุดหมายปลายทางนั้นมาประกอบในงาน แน่นอนว่าไม่ใช่แค่หมายถึงข้าวของเครื่องใช้และอาหารการกิน ยังรวมไปถึงโรงแรม การเดินทาง และเหล่าซัพพลายเออร์ท้องถิ่น ที่สามารถช่วยซัพพอร์ตงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี หรือจะให้เท่กว่านั้น สำหรับคอนเทนต์ในงานก็สามารถดึงเอา speaker ท้องถิ่นหรือหัวข้อการประชุมที่เกี่ยวข้องกับเทรนด์ในท้องถิ่นนั้นมาใช้ในงานได้อีกด้วย นี่คือการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทำให้เกิดการกระตุ้นพลวัตในชุมชน มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก็จะได้แก่ชุมชนทุกฝ่าย จะสามารถอยู่ร่วมกับงานไมซ์ได้อย่างยั่งยืน ทั้งเราและชุมชนก็มีแต่ได้กับได้
“ไม่ว่าใคร” ก็ร่วมจัดงานไมซ์ได้
การดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงานไมซ์ นอกจากจะเปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จะน่ารักมากคือ งานไมซ์ช่วยเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่โดยปกติแล้วห่างไกลกับแวดวงอุตสาหกรรมไมซ์มาก ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในงาน เป็นการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ในชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมจริง ๆ สร้างโอกาสสร้างงานและสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดียิ่งขึ้นระหว่างชุมชนกับผู้จัดงานไมซ์ เมนูอาหารเช้าเราอาจจะเสิร์ฟด้วยข้าวต้มมัดจากคุณยายที่ทำขายมาหลายสิบปีตรงท้ายตลาดที่เป็นสูตรเด็ดมาหลายชั่วอายุ (เช่นเดียวกับข้าวต้มมัดคุณยายฟูของ Bangkok Airways) เราอาจจะมี barista ที่เป็นเด็กพิเศษที่ชงกาแฟได้แม่นยำตามสูตรมากหรือเราอาจจะมีเหล่าเด็ก ๆ ม.ปลายพาผู้ร่วมงานเดินเที่ยวตลาดและชุมชนเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของท้องถิ่นจริงๆ
จุดประสงค์ของ localization คือให้ผู้ร่วมงานรู้สึกเข้าถึงสถานที่และท้องถิ่น ที่เราเลือกจัดงานไมซ์เพื่อสร้างความประทับใจและอัตลักษณ์ของงานให้เป็นที่จดจำ อีกทั้งยังตอบโจทย์กับชุมชนว่าเราในฐานะผู้จัดงานไมซ์ไม่ได้เพียงแต่เข้ามาใช้ประโยชน์กับท้องถิ่นแต่ยังคำนึงถึงชมชุนและพร้อมจะสร้างพลวัตที่ยั่งยืนของงานเคียงคู่ไปกับชุมชนอย่างแท้จริง
และมีสิ่งหนึ่งที่มั่นใจได้ ก็คือ เมืองไทยมีเรื่องราวท้องถิ่นให้เล่าเยอะมาก ลองหยิบจับขึ้นมาสักเรื่องแล้วเลือกรับปรับแปลงให้เข้ากับงานไมซ์ รับรองว่าเท่และเป็นที่จดจำอย่างแน่นอน