กลุ่มวิศิษฏ์ล้านนา (Visit Lanna) คือการรวมตัวกันของกลุ่มคนวงการไมซ์เชียงใหม่ เพื่อปูทางไปสู่จุดหมายปลายทางระดับภูมิภาค ดึงงานไมซ์สู่เมือง ทำให้การมาเชียงใหม่ไม่ใช่แค่มารับลมหนาวช่วงปลายปีเท่านั้น ทีม MICE Intelligence มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งวิศิษฏ์ล้านนา มาดูกันว่าจะมีบทเรียนอะไรให้เมืองอื่น ๆ ปรับใช้กันบ้าง
หนึ่งในภารกิจของวิศิษฏ์ล้านนาที่เริ่มขึ้นแล้ว คือการยกระดับงานไม้ดอกไม้ประดับเชียงใหม่ที่มีชื่อเสียงแต่เดิม มาสู่ปฏิทินท่องเที่ยวดอกไม้ ภายใต้แบรนด์ใหม่ เชียงใหม่บลูมส์ (Chaingmai Blooms) ทำให้เดือนกุมภาพันธ์ของเชียงใหม่เต็มไปด้วยกิจกรรมเล็กและใหญ่ที่เกี่ยวพันกับดอกไม้งาม ร่วมมือกันทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และผู้ประกอบการ มีตั้งแต่แคมเปญ (Campaign) เกี่ยวกับดอกไม้ในแต่ละร้านค้า ไปถึงงานวิ่งเส้นทางดอกไม้ที่ดึงคนต่างถิ่นมาร่วมงาน
คุณละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งวิศิษฏ์ล้านนา
ทำไมวิศิษฏ์ล้านนา (Visit Lanna) จึงเกิดขึ้น?
“เราอยากพัฒนาเชียงใหม่แบบยั่งยืน การแก้ปัญหาในช่วง low season ของเชียงใหม่ด้วยการปรับราคาห้องพักให้ต่ำลงไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืน ในฤดูฝนทุกโรงแรมในเชียงใหม่จะเจอปัญหาเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่เรามีความพร้อมมาก เรามีโรงแรมระดับ 1 - 5 ดาว โรงแรมอินเตอร์แบรนด์บูติคโฮเทล และโฮสเทลที่เติบโตเร็วมากช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีห้องพักกว่า 70,000 ห้อง เมื่อบวกกับจุดแข็งด้านวิถีชีวิตคนเชียงใหม่แล้ว ถือว่าเราพร้อมรับงานไมซ์ใหญ่ ๆ ได้สบายมาก เรารอแค่นักท่องเที่ยวกลุ่มเก่าไม่ได้ Visit Lanna จะเป็นศูนย์กลางที่ดึงนักเดินทางใหม่ ๆ เข้ามา เราสร้างแบรนด์ที่เข้มแข็งของเชียงใหม่ ที่ทุก ๆ ส่วนทำร่วมกัน ไม่ได้แข่งขัน แต่เราโตไปด้วยกัน”
การรวมตัวกันของภาคเอกชนมีจุดแข็ง หรือข้อดีอย่างไร ?
“ไมซ์ (MICE) เกี่ยวข้องกับหลายธุรกิจโรงแรม ออแกไนซ์เซอร์หรือแม้แต่ชุมชนทุกคนอยู่ในประสบการณ์ของลูกค้าทั้งหมด ถ้าจะผลักดันเรื่องไมซ์เราต้องไปด้วยกัน Visit Lanna จะทำให้เชียงใหม่คล่องตัวมากขึ้นที่จะจัดงานใหญ่ ๆ ระดับ Flagship Festival ได้ เป้าหมายเราไม่ได้มองแค่ในประเทศ เราต้องมองในระดับเอเชีย เราพึ่งพากันในจังหวัดให้ได้ก่อน และเมื่อภาครัฐเห็นโอกาสตรงนี้การส่งเสริมต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้น”
มีคำแนะนำใดสำหรับเมืองรอง หรือจุดหมายปลายทางอื่น ๆ บ้าง ?
“สำหรับเมืองรองต้องดึงคนจากต่างถิ่นเข้ามามากขึ้น เราใช้ความสร้างสรรค์กระตุ้นเศรษฐกิจเดิมในพื้นที่ แต่ขณะเดียวกันเราต้องมองหารายได้ช่องทางใหม่อยู่ตลอด การมาเยือนเมืองรองควรมีวาระและโอกาสมากกว่าแค่การมาท่องเที่ยวชมธรรมชาติเฉย ๆ ซึ่งการเดินหน้าสิ่งนี้ต้องใช้การวางแผน ออกแบบ ผ่าตัดโครงสร้างธุรกิจไมซ์กันใหม่ ให้เราพร้อมรับโอกาสที่จะเข้ามา”
เป้าหมายและความท้าทายต่อไปของ Visit Lanna คืออะไร
“เราอยากสร้างอัตลักษณ์ของเมืองให้เข้มแข็งขึ้นด้วยการสร้าง City Branding และทำการตลาดให้กับพื้นที่ในระดับที่เมืองรองทั่วโลกทำกัน เรานำเสนอวิถีชีวิตชาวเชียงใหม่และศิลปวัฒนธรรมที่เป็นจุดแข็งของเรา แต่เลือกเล่าในมุมมองใหม่ เชื่อมมาให้ถึงคนรุ่นใหม่ ให้มันเป็นเรื่องราวของพวกเขา สร้างคาแรคเตอร์ของเมืองที่หาได้ที่เชียงใหม่เท่านั้น ซึ่งในอนาคต Visit Lanna ก็จะขยายไปสู่เมืองอื่น ๆ ในภาคเหนือมากขึ้นอีกด้วย”
ไม่มีใครเข้าใจพื้นที่เท่ากับคนในพื้นที่…. การสร้างโอกาสเพื่อดึงรายได้ใหม่ ๆ จึงเป็นเรื่องของทุกภาคส่วน โอกาสของวงการไมซ์ยังมีอีกมากและเป็นส่วนสำคัญของทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก หากภาคเอกชนในเมืองอื่น ๆ ของไทย เริ่มรวมตัวกันผสานความพร้อมรองรับนักเดินทางธุรกิจ ไทยจะต้องเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นของไมซ์ในตลาดโลกแน่นอน