เป็นเรื่องปกติไปแล้วที่จะพบเจอบล็อกเกอร์เขียนบล็อกอยู่ริมหาดพัทยา ผู้จัดการโปรเจกต์กำลังเช็กอีเมลจากที่เขาใหญ่ เหล่าฟรีแลนเซอร์ที่สุมหัวกันทำงานตาม co-working space หรือแม้แต่วิศวกรที่กำลังเขียนโปรแกรมจากที่บ้าน เทคโนโลยีปัจจุบันทำให้เส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวเลือนรางลงสำหรับการเดินทางก็เช่นกัน ผู้คนเริ่มผสมระหว่างการเดินทางเพื่อธุรกิจและการเดินทางเพื่อพักผ่อนหย่อนใจเข้าไว้ด้วยกัน เมื่อจุดหมายปลายทางที่จัดงานโดยเฉพาะงานไมซ์น่าสนใจและดึงดูด นักเดินทางธุรกิจอาจพาคนข้างกายเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางด้วยกัน และขยายช่วงวันเข้าพักในพื้นที่จุดหมายปลายทางนั้นเพื่ออยู่ต่ออีกสักหน่อย นี่คือเทรนด์การเดินทางที่ผสมผสานเรื่องธุรกิจเข้าไว้ด้วยกันที่เรียกว่า “Bleisure Travel” ที่กำลังมีอิทธิพลต่อวงการไมซ์ทั่วโลก
Business Travel + Leisure Travel = Bleisure Travel
กลุ่มคนที่ทำให้การเดินทางแบบ Bleisure กลายเป็นเทรนด์ขึ้นมาคือกลุ่ม Millennials ข้อมูลจาก Global Business Travel Association (GBTA) พบว่ามากกว่าหนึ่งในสามของนักเดินทางเพื่อธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่ม Millennials มักจะเพิ่มวันพักผ่อนให้กับทริปธุรกิจที่กำลังจะไปอย่างน้อยหนึ่งทริป เพราะการเดินทางที่ดีต่อใจมักเกี่ยวพันไปถึงความพึงพอใจในงานที่ทำ นั่นหมายถึงผู้คนที่ได้รับความสุขจากงานที่ทำ (ที่ส่วนหนึ่งมาจากการได้พักผ่อนตอนไปทริป) ก็จะขยันขันแข็งและอยู่กับงานที่ทำได้นานขึ้นอีกด้วย
เดินทางเพื่อธุรกิจ + พักผ่อนหย่อนใจ ? ไม่เอาจริงเอาจังกับงาน
ผลสำรวจจาก National Car Rental’s second annual State of the Business Travel Industry Survey พบว่า เหล่า Millennials ถึงร้อยละ 45 ที่ไม่ยอมเล่าให้เพื่อนร่วมงานฟังถึงทริป Bleisure ที่ตัวเองเพิ่งเข้าร่วม สาเหตุหลักก็คือภาพลักษณ์แบบเก่าที่ผู้คนยังยึดถืออยู่ว่า การเล่นหรือการพักผ่อนหย่อนใจ จะทำให้ตัวเองดูมีแนวโน้มว่าไม่เอาจริงเอาจังกับงานที่ทำ และอาจส่งผลถึงการประเมินพนักงานปลายปี แต่ไม่ต้องห่วงไป เพราะจากผลสำรวจก็บอกเช่นเดียวกันว่า ร้อยละ 76 ของเหล่านักเดินทางแบบ Bleisure เมื่อได้ขึ้นเป็นตำแหน่งผู้จัดการหรือฝ่ายบริหาร พวกเขาก็มักจะผลักให้พนักงานของพวกเขากล้าที่จะสนุกไปกับการวางแผนทริปเพื่อธุรกิจและการพักผ่อนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของโลกที่เหล่า Millennials กำลังเขยิบหน้าที่การงานขึ้นมาอยู่ในระดับบริหารมากขึ้น ทำให้น่าเชื่อได้ว่าในอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายเกี่ยวกับ Bleisure มากขึ้น
เมื่อนักเดินทางเลือก Bleisure = ไมซ์ได้ประโยชน์ยิ่งขึ้น
ในฐานะของผู้จัดงานไมซ์ หากผู้เข้าร่วมงานเลือกจะมาอยู่ที่จุดหมายปลายทางของเรานานขึ้น ย่อมแปลว่าจะเกิดการใช้จ่ายมากขึ้น มูลค่าทางเศรษฐกิจก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้น นอกจากจะจัดงานเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของนักเดินทางแบบ Bleisure ด้วยหลัก Personalisation แล้ว (ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบกิจกรรมในงาน อาหารการกิน ที่พัก สถานที่โดยรอบของจุดหมายปลายทาง ฯลฯ) เราสามารถสร้างสรรค์ตัวเลือกเพิ่มเติมเพื่อเชื้อเชิญให้พวกเขาเลือกจะอยู่ต่ออีกซักหน่อย ไม่ว่าจะเป็นเรตห้องพักราคาพิเศษ วันเดย์ทริปพาไปทัวร์รอบ ๆ สถานที่ที่น่าสนใจของจุดหมายปลายทาง หรือแม้กระทั่งมีกิจกรรมรองรับผู้ติดตามก็ย่อมได้อีกเช่นกัน
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ จากข้อมูลของ GBTA พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทริป Bleisure มักไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร คือ การไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน คำถามคือทำไมถึงไม่มีเวลา ? คำตอบง่ายมาก เพราะ เราใช้เวลาไปกับการเสพเทคโนโลยีมากเสียจนเบียดบังเวลาที่จะได้พักผ่อนจริง ๆ (ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดียทั้งหลาย และแอปต่าง ๆ ที่อยู่บนคอมพิวเตอร์และมือถือ เช่น บางทีเราอาจกำลังนอนนวดอยู่แต่ก็ต้องตอบข้อความจากทางโทรศัพท์ของหัวหน้าหรือลูกค้าก็เป็นได้) ถ้าผู้จัดงานไมซ์อยากจะช่วยเหล่านักเดินทาง Bleisure ล่ะก็ ลองจัดกิจกรรมที่ให้พวกเขาสามารถพับหน้าจอโน้ตบุ๊กหรือปิดมือถือได้อย่างไม่ต้องกังวลใจดู ก็จะยิ่งได้ใจคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
แหล่งข้อมูล:
- https://www.hospitalitynet.org/opinion/4094954.html
- https://www.businesstraveller.com/business-travel/2019/03/03/bleisure-trend-continuing-survey-shows/
- http://www.bbc.com/storyworks/capital/bleisure-bound/bleisure-travel-trend