เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) คือการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาล (Big Data) หรือแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ (Mobile Application) มาเพิ่มมูลค่าให้กับจุดหมายปลายทางอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน หลายเมืองไมซ์ทั่วโลกเริ่มนำแนวคิดนี้มาสร้างประสบการณ์พิเศษให้นักเดินทาง เจาะความต้องการที่แตกต่าง ทำให้การมาเยือนจุดหมายปลายทางง่ายและถูกใจที่สุด มาถอดบทเรียนจาก 3 ตัวอย่าง Smart Economy จากฝั่งยุโรปกัน
MyHelsinki X WeChat: ต่างภาษา ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
ในแต่ละปี เมืองเฮลซิงกิ (Helsinki) ประเทศฟินแลนด์มีนักเดินทางชาวจีนมาเยือนจำนวนมาก เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เฮลซิงกิต่อยอดโอกาสนี้ด้วยการสร้างดิจิตอลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) “WeChat Helsinki Mini Program” มามัดใจนักเดินทางชาวจีนโดยเฉพาะ แพลตฟอร์มนี้จะเก็บรวบรวมข้อมูลเจาะลึกของเมืองเฮลซิงกิจากทั้งคนท้องถิ่นและนักเดินทางที่มาเยือน และนำไปเชื่อมต่อกับ WeChat แอปพลิเคชันสุดฮิตของคนจีน กลายเป็นไกด์นำทางแบบส่วนตัว เพื่อนักเดินทางชาวจีนโดยเฉพาะสามารถค้นหาข้อมูลแบบอินไซท์ (Insight) จากคนท้องถิ่นกินดื่ม เที่ยว เดินทาง รวมทั้งจ่ายเงินได้ภายในแอปเดียวเท่านั้น และที่สำคัญทุกอย่างเป็นภาษาจีน !
ONLYLYON Exp?rience: ยกระบบ CRM มาใช้ในระดับเมือง
เมืองลิยง (Lyon) ประเทศฝรั่งเศสคือประเทศแรก ๆ ที่นำเทคโนโลยี CRM หรือ ระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (Customer Relationship Management) ปรับจากระดับองค์กรมาใช้ในระดับ “เมือง” ในชื่อโครงการ “ONLYLYON Exp?rience” โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐเครือข่ายโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร และพิพิธภัณฑ์ที่มีมากกว่า 2 ล้านรายชื่อ ร่วมกันแชร์ข้อมูลพื้นฐานของลูกค้าให้กลายเป็นข้อมูลมหาศาล (Big Data) ของทั้งเมืองลิยง และมีโครงสร้างการสื่อสาร (Communications Architecture) แบบพิเศษที่ช่วยกำหนดข้อตกลงว่าจะสื่อสารกับลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างไรให้ทั้งเมืองได้ประโยชน์สูงสุด ผู้ประกอบการในเครือข่ายสามารถใช้ข้อมูล Big data นี้เพื่อนำเสนอแผนท่องเที่ยวและบริการของตนเองให้ตรงใจนักเดินทาง ทั้งในช่องทางออนไลน์หรือในสถานที่จริง วิธีการนี้ทำให้ทั้งเมืองกลายเป็นองค์กรเดียวกันที่ทุกฝ่ายล้วนได้ประโยชน์
Ljubljana: ใช้ AR ยกระดับประสบการณ์
ลูบลิยานา (Ljubljana) คือเมืองหลวงของประเทศสโลวีเนีย (Slovenia) ที่โดดเด่นด้านแหล่งประวัติศาสตร์ ลูบลิยานายกระดับประสบการณ์ให้นักเดินทางไปอีกขั้นผ่าน “Nexto” แอปพลิเคชั่นเล่าเรื่องเมืองที่ช่วยให้นักเดินทางมีส่วนร่วมกับจุดหมายปลายทางมากขึ้น แอปนี้ไม่ได้นำเสนอข้อมูลท่องเที่ยวในรูปแบบเสียง (Audio Guide) แบบเดิม ๆ แต่ Nexto นำเทคโนโลยีมาสร้างลูกเล่นสนุก ๆ ให้นักเดินทางมีส่วนร่วมกับสถานที่จริง เช่น สร้างภาพเสมือนจริง (Augmented Reality) บนโบราณสถานผ่านสมาร์ทโฟนนำเสนอ Audio Guide ทันทีที่นักเดินทางเข้าใกล้สถานที่สำคัญ และยังมีเกมส์ที่นักเดินทางสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสถานที่จริงได้ (Interactive Game) ให้นักเดินทางสนุกกับโบราณสถาน และแชร์ในโลกออนไลน์ได้ทันที
จาก Smart Economy สู่ Smart MICE
เมืองและอุตสาหกรรมไมซ์แยกขาดจากกันไม่ได้ เมื่อเมืองใช้เทคโนโลยีมาสร้างเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ย่อมส่งผลให้การต้อนรับนักเดินทางไมซ์สะดวกสบายและพิเศษมากขึ้น เมืองไมซ์ของไทยอาจลองทำงานร่วมกับกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) หรือผู้สร้างเทคโนโลยีในท้องถิ่น รีบคว้าโอกาส ดึงประโยชน์จากข้อมูล Big Data มาสร้างงานไมซ์ เช่น เจาะลึกข้อมูลการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลของทั้งเมือง แล้วนำมาสร้างประสบการณ์ที่ตรงใจกับแต่ละองค์กร หรือลองร่วมมือกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ในต่างประเทศที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักเช่น จีน สิงคโปร์ หรืออินเดีย เพื่อสร้างความพิเศษแบบ Personalisation ทลายกำแพงของภาษาและวัฒนธรรม ให้รูปแบบการจัดงานไมซ์ที่ไทยถูกใจนักเดินทางที่สุด
ถอดบทเรียนสำคัญสำหรับไมซ์ไทย (Key Takeaway)
Big Data ระดับเมือง:
ข้อมูลรอบด้านในระดับเมืองที่รวบรวมจากคนท้องที่ นักเดินทาง และผู้ประกอบการจะกลายเป็นคลังข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างมหาศาล
ยุคของการทำงานร่วมกัน:
หมดยุคของการแข่งขันแล้ว การทำงานร่วมกัน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ข้ามทวีป ข้ามภาษา จะทำให้ลูกค้าไมซ์ได้บริการที่ดีสุดและใช่ที่สุด
ทุกคนคือคนพิเศษ:
เทคโนโลยีในยุค 2020 จะทำให้นักเดินทางไมซ์ทุกคนกลายเป็น “คนพิเศษ” จับตาแนวคิด Personalisation ไว้ให้ดี เพราะเทรนด์นี้จะเปลี่ยนการตลาดไมซ์แน่นอน
แหล่งอ้างอิง
https://www.idean.com/micro/myhelsinki-miniprogram
https://www.thinkdigital.travel/opinion/only-lyon-on-smart-tourism/
https://smarttourismcapital.eu/best-practices/
https://helsinkiasaservice.com/