ประเด็นที่กำลังเป็นที่พูดถึงและจับตามองกันในระดับนานาชาติตอนนี้ คงไม่พ้น “ไวรัสโคโรน่า (Coronavirus)” หรือ โควิด-19 ไวรัสที่ส่งผลกระทบต่อปอด ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ ที่กำลังลุกลามจากประเทศต้นกำเนิดอย่างจีนไปสู่เมืองต่าง ๆ ของโลก เชื้อที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้นานาประเทศต่างระแวดระวังและออกมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด รวมถึงในประเทศไทยเองที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนกว่า 43 รายแล้ว (ข้อมูลวันที่ 2 มีนาคม 2563) จึงจำเป็นต้องใส่ใจสุขอนามัยและการป้องกันโรคเป็นพิเศษ
ธุรกิจไมซ์คือธุรกิจที่พาผู้คนจากหลากหลายประเทศ หลากหลายสถานที่มาพบกัน ซึ่งแน่นอนว่าสถานที่ใด ๆ ที่มีผู้คนจำนวนมากในขณะนี้ล้วนมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่เชื้อ เพราะผู้จัดหรือผู้ร่วมงานไม่อาจรู้ได้เลยว่า ท่ามกลางผู้คนมากมาย ณ สถานที่จัดงาน มีใครที่กำลังป่วยหรือไม่ ผู้จัดงานไมซ์จึงต้องเตรียมรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้ และป้องกันการติดต่อของโรคให้ได้มากที่สุด
เตรียมความพร้อมผู้ร่วมงาน
ผู้ร่วมงานจำนวนมากมายที่หลั่งไหลเข้ามานั้น อาจมีผู้ที่กำลังป่วยแต่ยังไม่แสดงอาการ สิ่งที่ผู้จัดสามารถทำได้คือตรวจสอบความพร้อมของผู้ร่วมงาน ให้ทุก ๆ คนมั่นใจว่างานนี้จะปลอดภัยได้ ส่วนหนึ่งต้องได้ความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมงานด้วย
1. แนะนำให้ผู้ร่วมงานรู้และเข้าใจ "ขั้นตอนการป้องกันไวรัสตามประกาศขององค์การอนามัยโลก" เช่น ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ ไอหรือจามอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการสัมผัสตา จมูก หรือปาก ซึ่งทำให้เชื้อเข้าไปในร่างกายได้โดยง่าย หากพบว่าตนมีไข้ ไอ หรือหายใจลำบาก ควรพบแพทย์ให้เร็วที่สุด หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงไม่สุก
2. แนะนำให้ผู้ร่วมงานรู้อาการเบื้องต้นของผู้ติดโรคได้แก่ มีไข้ ไอหรือจามโดยมีอาการหายใจลำบาก ร่วมด้วยหากมีอาการต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ ควรแนะนำให้ผู้ร่วมงานไปโรงพยาบาลหรือหากมีผู้ร่วมงานที่มีอาการดังกล่าวผู้จัดควรติดต่อสถานพยาบาลทันที
ผู้จัดงานเตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ฉุกเฉิน
1. ผู้จัดงานเตรียมช่องทางติดต่อสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือหน่วยงานป้องกันโรคระบาดและร่วมมือกับสถานที่จัดงานเพื่อวางแผนรับมือกรณีฉุกเฉิน
2. จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์พื้นฐานให้ผู้ร่วมงาน เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ
3. เลือกสถานที่จัดงานที่เชื่อถือได้ หรือฆ่าเชื้อแล้ว
4. กรณีสถานที่จัดงานอยู่เขตที่มีความเสี่ยงสูง ต้องเพิ่มมาตรการการรักษาความสะอาดให้มากขึ้น
สื่อสารให้ชัดเจน
หัวใจสำคัญคือการสื่อสารให้เข้าใจระหว่างผู้จัดงานและผู้ร่วมงาน ผู้จัดต้องวางแผนการสื่อสารเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ร่วมงานตระหนักว่าโรคระบาดนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกันระวัง และไม่อาจปล่อยปละละเลยได้ รวมทั้งสื่อสารมาตรการรับมือและป้องกันโรคระบาดขั้นพื้นฐาน ช่องทางติดต่อสถานพยาบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรณีฉุกเฉิน
ผู้จัดงานไมซ์สร้างความมั่นใจให้ผู้ร่วมงานเห็นความพร้อมของการรับมือสถานการณ์โรคระบาดได้ผ่านการสื่อสารที่ชัดเจน มาตรการรับมือของออร์แกไนเซอร์มีอะไรบ้าง เช่น ตรวจวัดไข้ของผู้ร่วมงานก่อนเข้างาน คัดกรองอาการเบื้องต้นที่จุดลงทะเบียน แจ้งว่ามีหน้ากากอนามัยแจก หรือมีเจลล้างมือบริการ อาจเพิ่มช่วงที่ให้ผู้ร่วมงานล้างมือบ่อย ๆ เข้าไปในกำหนดการของงานและหากจำเป็นต้องยกเลิกหรือเลื่อนการจัดงาน หรือเปลี่ยนเป็นการประชุมออนไลน์ ผู้จัดก็ต้องประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจน เพื่อความปลอดภัยและความมั่นใจของทุก ๆ ฝ่าย
แหล่งข้อมูล
- กรุงเทพธุรกิจ. (2563). อัพเดททั้งวัน สถานการณ์ไวรัส ‘โคโรน่า’ (7 ก.พ. 2563). เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/865379
- สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (2557). แนวทางการป้องกัน ควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล และการแพร่กระจายเชื้อ ผู้ป่วยสงสัยโรค MERS-CoV (Middle East Respiratory Syndrome). เข้าถึงเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 จาก http://www.nkp-hospital.go.th/th/mersCOV/MERS_2.pdf
- อมร ลีลารัศมี, ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์. (2563). ความรู้ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ สำหรับแพทย์. เข้าถึงเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 จาก https://tmc.or.th/pdf/tmc_knowlege-26.pdf
- EventMB Studio Team. (2020). As Coronavirus Spreads, Should Your Event be Prepared? Retrieved on February 3, 2020, from https://www.eventmanagerblog.com/coronavirus-events?utm_source=EventMB+Email+Subscription&utm_campaign=a7acb8a47a-As+Coronavirus+spreads0123&utm_medium=email&utm_term=0_ae2996bae5-a7acb8a47a-106658897
- World Health Organization. (2020). Novel Coronavirus (2019-nCoV) advice for the public. Retrieved on February 3, 2020 from https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/advice-for-public