Localisation คือคำที่ได้ยินบ่อยครั้งในวงการไมซ์ หมายถึงการทำให้จุดหมายปลายทางกลายเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นจริง ๆ นี่คือโอกาสสำคัญของไมซ์ไทย เพราะเสน่ห์ท้องถิ่นของไทยในแต่ละพื้นที่นี่แหละที่จะสร้างความโดดเด่นในตลาดโลก แต่จะทำอย่างไรให้ประสบการณ์ท้องถิ่นของเราไม่ใช่แค่การขาย “ความเป็นไทย” แบบเหมารวม ทำอย่างไรให้ประสบการณ์ท้องถิ่นของเรา “หาได้ที่นี่…เท่านั้น”
ทีม MICE Intelligence มีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณออมสิน นันทนิตย์ เสสะเวชเจ้าของหนังสือขายดี “รักสุดสวิส” ที่เล่าชีวิตนักเรียนการโรงแรมที่สวิตเซอร์แลนด์นอกจากนี้ยังเป็นผู้บริหารโรงแรมฮอไรซันวิลเลจแอนด์ รีสอร์ท (Horizon Village & Resort) อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในโรงแรมที่นำเสนอประสบการณ์ท้องถิ่นให้กับลูกค้าไมซ์แบบที่ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและจริงใจ…. มาถอดบทเรียนไมซ์สไตล์ดอยสะเก็ดกัน
“ความเป็นท้องถิ่น” เพิ่มมูลค่าให้กับ“ไมซ์” อย่างไร
“งานประชุมจะจัดที่ไหน นอนที่ไหนในโลกก็ได้ แต่ประสบการณ์แบบท้องถิ่นที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับ จะเป็นตัวตัดสินเลยว่า ทำไมฉันต้องมาที่นี่เท่านั้น เห็นได้ชัดเลยว่าลูกค้าไมซ์ทุกกลุ่ม ถ้ารู้ว่าเราจัดธีมงาน (Theme) ที่สื่อความเป็นท้องถิ่นได้ เขาจะตัดสินใจเลือกจุดหมายปลายทางทันที เพราะว่าลูกค้าเหนื่อยกับการประชุมมาหลายวัน เขาก็อยากเจออะไรใหม่ ๆ ให้เก็บเป็นความทรงจำบ้างซึ่งไมซ์ไทยสามารถแทรกความเป็นท้องถิ่นในบริการได้ทุกขั้นตอน”
“ที่ฮอไรซันช่วงดินเนอร์ของลูกค้าไมซ์เราเปลี่ยนจากการจัดเลี้ยงธรรมดา ให้เป็นแบบกาดหมั้ว (ตลาดล้านนาโบราณ) ให้ลูกค้าได้ทานผักในชุมชนที่นำมาปรุงกันสด ๆ ลูกค้าไมซ์ที่มาทำ Team Building เรามีฐานให้ฝึกทำลูกประคบสมุนไพรจากในสวนเราจริง ๆ พอเสร็จแล้วเราก็ให้ชาวบ้านในชุมชนมาทำคลาสนวด ให้ลูกค้าได้ใช้ลูกประคบของเขาเอง ซึ่งลูกค้าประทับใจมาก อย่างลูกค้าเยอรมันเขาแทบจะหาประสบการณ์แบบนี้ในประเทศเขาไม่ได้เลย เราอยากทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นของเราเป็น Once in a life time experience ของเขา”
หาตัวตนของโรงแรมเจอได้อย่างไร ?
“เราหยุดวิ่งตามรูปแบบสากลและตัดสินใจเล่าเรื่องของเราเอง กลับมามองตัวตนของเราจากที่ที่เราอยู่ ฮอไรซันเป็นโรงแรมที่อยู่ในสวนทวีชล พนักงานของเรากว่า 80% ก็เป็นคนดอยสะเก็ดที่ผูกพันกับโรงแรม เราเลยมองที่นี่เป็นหมู่บ้านที่อบอุ่น เป็นกันเอง ลูกค้าเป็นเหมือนแขกพิเศษที่มาเยือนหมู่บ้านเรา เราต้อนรับเขาด้วยสิ่งที่เรามีแต่เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ในเวลาที่ดีที่สุดเสมอ ซึ่งการเล่าเรื่องแบบท้องถิ่นมันก็ลักชูรี่ (Luxury) ได้เพราะนิยามของลักชูรี่เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่แค่ความหรูหราแต่มันคือความคุ้มค่าในสิ่งที่ลูกค้าจ่ายเช่น การได้ทานอาหารจากวัตถุดิบที่ดีที่สุดในท้องถิ่น หรือประสบการณ์ส่วนบุคคลที่พิเศษสำหรับลูกค้าแต่ละคนจริงๆ ความลักชูรี่แบบท้องถิ่นมันอยู่ในความรู้สึกและคุณค่าทางใจ”
อะไรสำคัญที่สุดในการทำ Localisation?
“Localisation ต้องทำร่วมกันตั้งแต่บนลงล่าง ถ้าผู้บริหารอยากทำ แต่คนที่ต้องสัมผัสกับลูกค้าจริง ๆ ไม่เข้าใจมันจะไม่เกิดผล ที่ฮอไรซันเรายกย่องและให้เกียรติความคิดพนักงานมาก ภูมิปัญญาของเขาคือจุดแข็งของเราเราทำให้เขาเห็นภาพเดียวกับเราและเปิดโอกาสให้เขาได้แชร์ความคิดซึ่งมาจากวิถีชีวิตท้องถิ่นของเขาจริง ๆ พอเขาภูมิใจกับงานที่เขาสร้างขึ้น เวลาให้บริการกับลูกค้าเขาก็จะทำด้วยใจ เราบอกเขาเสมอว่า ทุกคนทำการตลาดให้โรงแรมได้ แม้แต่ในครัว ถ้าคุณจัดจานให้สวยที่สุดลูกค้าก็ถ่ายรูปแล้วไปลงอินสตราแกรมได้ การทำ Localisation ต้องอาศัยพวกเขา ให้ประสบการณ์ทั้งหมดเป็นเรื่องท้องถิ่น จากคนท้องถิ่นจริง ๆ
ชุมชนมีส่วนร่วมในการทำ Localisation อย่างไร
“เราต้องทำให้ชุมชนเข้ามาอยู่ในซัพพลายเชน (Supply chain) ให้ได้มากที่สุด ถ้าทำ Localisation แต่ยังต้องพึ่งทรัพยากรจากนอกพื้นที่น่าจะไม่ใช่ อาหารเราเลือกใช้วัตถุดิบจากชุมชนจริง ๆ ผลไม้เราก็มีนโยบายให้พนักงานปลูกกันเอง การจัดธีมดินเนอร์แบบกาดหมั้ว เราก็ดึงการแสดงมาจากลิเกชุมชน หรือชมรมนาฏศิลป์ในโรงเรียนใกล้ๆ รวมถึงการพาลูกค้าไปทำ CSR ในชุมชนซึ่งผลตอบรับดีมาก เพราะเราไม่ได้ทำแค่ผิวเผิน เราให้เขาได้ลงมือจนเห็นผล ทั้งซ่อมสนามกีฬา สอนภาษา ทำห้องสมุด จนตอนนี้โรงเรียนร้องขี้เหล็กที่อยู่ใกล้โรงแรมที่สุดพัฒนาขึ้นมาก เราเสนอให้ลูกค้าได้แบ่งปันชีวิตความเป็นอยู่ที่ต่างประเทศให้เด็ก ๆ ฟังด้วย ให้มันเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายทั้งกับลูกค้าเองและเด็กที่ใช้ชีวิตในชุมชนจริง ๆ”
คุณออมสิน นันทนิตย์ เสสะเวช
Assistant Managing Director
Horizon Village & Resort ณ สวนพฤกษศาสตร์ทวีชลอำเภอดอยสะเก็ดจังหวัดเชียงใหม่
เคยได้รับเชิญให้เป็น Speaker ในงาน Thailand MICE Forum 2018
และเป็นเจ้าของหนังสือ The Secret Life of the Hotelier รักสุดสวิส โดยสำนักพิมพ์ a book