หัวใจสำคัญของไมซ์คือ “บุคลากร” ที่ทำให้อุตสาหกรรมดำเนินไปได้ เพราะไมซ์คือเรื่องของคนสู่คน เป็นการสื่อสารธุรกิจ มองหาความสนใจผ่านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล บุคลากรในวงการไมซ์ที่มีคุณสมบัติตรงความต้องการของอุตสาหกรรมและตลาดย่อมไม่ได้เกิดขึ้นได้เอง บุคลากรต้องผ่านการเข้าร่วมและเรียนรู้งานในอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และสามารถนำไปปฏิบัติได้โครงการเครือข่ายเยาวชนไมซ์ หรือ “MICE Student Chapter” ของทีเส็บ คือโครงการสำคัญที่สร้างเครือข่ายภาคเยาวชนในสถาบันการศึกษาที่เป็นพันธมิตรกับทีเส็บ เพื่อเผยแพร่และผลักดันองค์ความรู้เกี่ยวกับไมซ์ ให้บุคลากรรุ่นใหม่พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรม ทั้งยังสร้างหลักสูตรวิชาการจัดการอีเวนต์ หรือ Event 101 เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการจัดงานอีเวนต์ให้แก่นักศึกษาอีกด้วย
วันนี้ทีม MICE Intelligence มีโอกาสได้พูดคุยอาจารย์แคตเทอรีนแอน สารสิน ตุงคสวัสดิ์ (เคต สารสิน) (CMP, EMD, CIS, SEP) อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษให้กับหลาย ๆ มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนเกี่ยวกับไมซ์ หนึ่งในผู้ที่คลุกคลีอยู่กับอุตสาหกรรมนี้มานาน และมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนี้มานานกว่า 30 ปี
อาจารย์แคตเทอรีนแอน สารสิน ตุงคสวัสดิ์ (เคต สารสิน)
ผู้มีประสบการณ์ในวงการไมซ์มามากกว่า 30 ปี
ในมุมมองของผู้ที่คลุกคลีกับวงการการศึกษาไมซ์ แนวโน้มของอุตสาหกรรมไมซ์จะมีทิศทางอย่างไรในอนาคต ทำไมเด็กรุ่นใหม่ ถึงควรเข้ามาเรียน?
สมัยก่อนแม้แต่เครื่องแฟกซ์ยังไม่มีเลย เมื่อก่อนจะเป็นเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า แต่ทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การทำงานของคนในอุตสาหกรรมนี้ง่ายขึ้น เด็กรุ่นใหม่ที่จะเข้าอาจจะทำงานสบายขึ้นเพราะมีเทคโนโลยีเหล่านี้มารองรับ แต่ก็มีเรื่องท้าทายของเด็กรุ่นใหม่เหมือนกัน
คนที่จะเข้ามาเรียนหรือมาทำงานในวงการไมซ์จำเป็นจะต้องมีคาแรคเตอร์เฉพาะ ไม่ใช่งานที่ใครจะทำก็ได้ จะต้องเป็นคนมีความรักในงาน อดทน ใส่ใจ ใฝ่รู้ตลอดเวลา อาจารย์เห็นจากเด็กปีหนึ่งหลาย ๆ คนที่ยังไม่เคยเรียนวิชา Introduction to MICE แต่พวกเขาได้เห็นงานประชุม งานนิทรรศการ คอนเสิร์ตต่าง ๆ แล้วรู้ตัวว่านี่คือสาขาที่พวกเขาชอบ
ปัญหาที่คนทำงานในอุตสาหกรรมพบตอนนี้คือ พวกเราขาดแคลนบุคลากร ไม่ใช่แค่ปริมาณแต่รวมถึงคุณภาพด้วย อุตสาหกรรมของเรายังต้องการบุคลากรที่มีความรักในงาน มีความใส่ใจ มีคุณสมบัติที่เหมาะสม เพราะมันไม่ใช่งานที่ใครก็ได้จะมาทำ ดังนั้นการเลือกเรียนสาขานี้ อย่างไรก็มีงานรองรับแน่นอน และถ้าไฟแรง ทำงานได้ดี ก็อาจจะได้งานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบด้วย
จากการเริ่มโครงการ MICE Student Chapter อาจารย์เห็นอย่างไรเกี่ยวกับคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของบุคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์ โครงการได้สร้างจุดแข็งหรือเพิ่มคุณลักษณะของนิสิตอย่างไร เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันด้านบุคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์
ตั้งแต่ MICE Student Chapter ก่อตั้งขึ้น อาจารย์ได้เข้าร่วมกิจกรรมหลายอย่างและพบว่าเป็นโครงการที่ดีมาก มันทำให้นิสิตนักศึกษาที่มีความสนใจได้พบปะกับเพื่อนฝูงที่มีความสนใจคล้าย ๆ กันจากหลากหลายสถาบัน นอกจากเด็กไปเจอกับเด็กเอง พวกเขายังมีโอกาสได้เจอกับผู้ใหญ่ในวงการด้วย ในวงการไมซ์ การมีเครือข่ายเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งเครือข่ายกว้างไกลมากเท่าไหร่ โอกาสในการทำงานของคุณก็จะมากขึ้น ความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก MICE Student Chapter เปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ได้สร้างสัมพันธ์ต่อกัน และคนรุ่นเก่าได้มาพบกับคนรุ่นใหม่เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติระหว่างกัน ได้รู้จักกัน ที่ผ่านมามีกิจกรรมให้ความรู้ที่น่าสนใจ คอนเทนต์ที่ทำให้เด็กอยากรู้ เด็กมีความรู้นอกจากตำรา ได้เห็นของจริง มีประสบการณ์จริง ๆ
ข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบของประเทศไทยในตลาดแรงงานไมซ์ เมื่อเปรียบเทียบกับระดับภูมิภาคซึ่งจะเชื่อมโยงกันในอนาคต
จุดแข็งของประเทศไทยคือเรามี MICE Supplier หรือ MICE Player ที่มีศักยภาพในระดับนานาชาติค่อนข้างเยอะ ทั้งเรื่องโสตทัศนอุปกรณ์ (Audio Visual Equipment) หรือเทคโนโลยี เรามีบุคลากรเฉพาะทาง เช่น ช่างเทคนิค ออร์แกไนเซอร์ ที่เชี่ยวชาญ มีการสนับสนุนจากทีเส็บที่ให้เรียนคอร์สต่าง ๆ จากต่างประเทศ ทำให้ประเทศเรามีออร์แกไนเซอร์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมอยู่ค่อนข้างเยอะ ตำแหน่งที่ตั้งอยู่ของประเทศไทยที่เป็นจุดหมายของอาเซียน มีความเจริญทางด้านวัตถุ วัฒนธรรม คนมาประชุมไมซ์แล้วยังอยู่เที่ยวต่อได้ด้วย คุ้มค่าที่จะมา เพราะมาประเทศไทยไม่ได้แพงมาก ที่พัก การเดินทาง มีขนส่งมวลชน และประเทศไทยยังเป็นประเทศจุดหมายปลายทางไมซ์ที่ยั่งยืน (Sustainable MICE Destination) ซึ่ง “ความยั่งยืน” เป็นเรื่องสำคัญมากในการประชุมองค์กร หรือการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ถ้าคุณเป็นผู้จัดหาที่มีข้อนี้ก็จะมีโอกาสได้ทำงานกับบริษัทใหญ่ ๆ ได้
จุดอ่อนคือ เราขาดแคลนบุคลากร ทำให้ออร์แกไนเซอร์บางเจ้าอาจจะได้รับงานตลอด แต่คนในองค์กรอยู่ได้แป๊บเดียวก็ออก เพราะทำงานไม่ไหว เราขาดบุคลากรรุ่นใหม่ที่จะมาสานต่อจากคนรุ่นเก่า ปัญหาใหญ่ในมุมมองของอาจารย์ คือ เรื่องทรัพยากรบุคคล
โครงการ ASEAN MICE Academy ของ TCEB นอกจากจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบุคลากรด้านไมซ์ ป้อนบุคลากรที่มีมาตรฐานเข้าสู่อุตสาหกรรม ยังช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยมีศักยภาพด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์อย่างไร
การเป็นศูนย์กลางอาเซียนจะทำให้เกิดความร่วมมือ บางประเทศมีจุดแข็งที่อาจจะเข้ามาเสริมจุดอ่อนของอีกประเทศได้ เราควรมองประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเป็นพันธมิตร สร้างความร่วมมือที่จะทำให้เรามีศักยภาพมากขึ้น ถ้าประเทศไทยมีความรู้ด้านไหนก็นำไปแลกเปลี่ยนกับเขา เขาก็นำความรู้ที่เขามีมาแลกเปลี่ยนกับเรา ซึ่งจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมด้วย และมันอาจจะทำให้มองภาพได้ใหญ่ขึ้น จากงานระดับท้องถิ่นกลายเป็นงานระดับภูมิภาคอาเซียน มีโอกาสมากมาย สำคัญคือเราต้องเปิดใจ
อุปสรรคและความท้าทายในการผลิตบุคลากรด้านไมซ์
การศึกษาไมซ์ในประเทศไทยปูทางมาสักพักแล้ว ทีเส็บจะมีเปิดคอร์สผลิตครูไปสอนหลักสูตรไมซ์ให้กับนิสิตอยู่ตลอด ซึ่งไม่ใช่แค่เด็กที่เรียนท่องเที่ยวในระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย แต่รวมถึงปวช. ปวส. และนักเรียนอาชีวะ หรือนักศึกษาในสาขาที่จะเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) ในอุตสาหกรรมไมซ์ อุปสรรคไม่ได้อยู่ที่การศึกษา คนที่ไม่ได้เรียนไมซ์แต่มีความสนใจก็เข้ามาทำได้ แต่คนที่เรียนถ้าไม่สนใจเขาก็ไม่เข้ามาทำ มันเป็นเรื่องปัจเจก บางคนสนใจ มีความรักในงาน บางคนจบมาเพราะคิดว่าตัวเองชอบ แต่พอลองทำแล้ว พบว่า งานที่ทำไม่ใช่สิ่งที่ชอบ ก็จะไม่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรม บางคนเรียนมาเพราะสนใจ แต่จบไปทำงานหนักกว่าที่คาดไว้หรือเจอประสบการณ์ที่ไม่ดีก็ทำอะไรไม่ได้ มันค่อนข้างเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เด็กรุ่นใหม่มีความคาดหวังต่างไปจากคนรุ่นก่อน พวกเขาไม่รู้สึกว่าต้องทนกับอะไรที่เกินไป หรือบางคนภูมิต้านทานต่ำ จะมองว่าอุตสาหกรรมนี้เหนื่อย เหนื่อยเกินไป ซึ่งพวกเขาก็ไม่ได้ผิดที่คิดแบบนั้น อุตสาหกรรมก็ไม่ได้ผิดที่ต้องการบุคลากรที่ทุ่มเทในการทำงาน มันเป็นธรรมชาติของงาน เพียงแต่เราจะหาคนที่ใช่เข้ามาทำงานอย่างมีความสุขได้อย่างไร
คำแนะนำต่อคนที่อยากศึกษาด้านไมซ์ หรือคนที่อยากเรียนรู้ไมซ์ ควรเตรียมตัว หรือทำอย่างไร
สำหรับคนที่ไปงานต่าง ๆ แล้วเริ่มสนใจการทำงานเบื้องหลัง อยากเป็นผู้จัดงาน ก็ให้ลองสังเกตดูก่อนว่าเขาทำงานกันอย่างไร ลองมองงานในมุมมองผู้จัด เราจะเจอปัญหาแบบไหน เราชอบแก้ปัญหาหรือเปล่า ถ้าคิดว่าการแก้ปัญหาเป็นความท้าทาย ชอบแก้ปัญหา ชอบพบปะผู้คน ไมซ์อาจจะเป็นวิถีทางที่ดี และการได้เรียนเกี่ยวกับไมซ์จะได้ความรู้มากขึ้นไปอีก งานไมซ์แต่ละสายก็ไม่เหมือนกัน สิ่งที่จะทำให้เรารู้ว่าเราเป็นมนุษย์สายงานไหนคือการได้สัมผัสกับงานโดยตรง ระหว่างเรียนอาจจะทำเป็นพาร์ตไทม์ หรืออาสาสมัคร ตามมหาวิทยาลัยชอบมีกิจกรรมให้นักเรียนนักศึกษาไปมีส่วนร่วมในการจัดงาน การทำอาสาสมัครจะช่วยให้เราได้ลองทำงานประเภทต่าง ๆ บางวันอยู่ในห้องประชุม บางวันจัดนิทรรศการ เป็นพนักงานตามบูธมหาวิทยาลัย ช่วยจัดทริป เราจะเห็นความแตกต่างของงานแต่ละประเภท ประสบการณ์จะช่วยให้เราเห็นความสนใจจริง ๆ รู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบสายงานไหนและถ้าเราเจอสายงานที่ชอบเร็ว เราก็จะได้พุ่งความสนใจไปทางนั้นเลย
ในวงการไมซ์ ยิ่งประสบการณ์เยอะยิ่งได้เปรียบ และทัศนคติที่เปิดกว้างจะทำให้คุณไปได้ไกลในอุตสาหกรรม
แคตเทอรีน แอน สารสิน ตุงคสวัสดิ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอาจารย์พิเศษด้านไมซ์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนการโรงแรมและไมซ์ ที่มีประสบการณ์สอนมากกว่า 10 ปี