เคยอยากไปเยือนจุดหมายปลายทางซักที่ เพียงเพราะได้อ่านเรื่องเล่าของจุดหมายปลายทางนั้นไหม?
ผู้คนยังคงแสวงหาตัวตนและเรียนรู้ความต้องการ ผ่านประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวเสมอแต่ด้วยการเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายขึ้นมากเพียงปลายนิ้ว พวกเขาต้องการมากกว่าแค่ข้อมูลที่ตั้งวันเวลาเปิดปิดและมีอะไรอร่อยให้กิน ไม่มีอะไรจะดึงดูดผู้คนได้มากกว่าเรื่องเล่าที่น่าสนใจที่จะเชื้อเชิญให้พวกเขาไปเยือน ด้วยเหตุนี้การเล่าเรื่อง (Story telling) จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะเครื่องมือสร้างสรรค์ ที่จะทำให้จุดหมายปลายทางเป็นที่รู้จัก อีกทั้งยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่และชุมชนผ่านเรื่องเล่า
ทีม MICE Intelligence ได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องการเล่าเรื่องกับสตางค์ ภัทรียา พัวพงศกรบรรณาธิการหมวดท่องเที่ยวและนักจัดทริปแห่ง The Cloud ที่สนใจเรื่องงานฝีมือ งานออกแบบจากคนท้องถิ่นและละครเวทีพอ ๆ กับการเดินทาง ในฐานะที่เธอมีประสบการณ์จากการหยิบใช้เรื่องราวของจุดหมายปลายทางที่ตัวเองได้ไปเยือน มาเรียบเรียงด้วยทักษะเขียนบทละคร นอกจากลายเซ็นงานเขียนที่เด่นชัดและน่าติดตามแล้ว ตัวหนังสือของเธอยังทำให้จุดหมายปลายทางเหล่านั้นได้เป็นที่รู้จัก และสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้กับทั้งชุมชนและธุรกิจไมซ์โดยเฉพาะกับเมืองรองอีกด้วย
สตางค์ ภัทรียา พัวพงศกร บรรณาธิการหมวดท่องเที่ยวและนักจัดทริปแห่ง The Cloud
ร่างเรื่องเล่าจากความชอบ
ถ้าจะเลือกเล่าจุดหมายปลายทางซักที่ ลองเริ่มจากความชอบของเราก่อน ดูว่าในแต่ละจุดหมายปลายทางมีอะไรที่เราชอบหรือสนใจบ้าง จากนั้นค่อยหาข้อมูลเพิ่มเติมของสิ่งที่เราสนใจ ซึ่งในแต่ละจุดหมายปลายทาง ก็จะมีเรื่องราวที่ต่างกันไป เช่น สกลนครโดดเด่นเรื่องผ้าครามจนริเริ่มจัดเทศกาล ‘สกลเฮ็ด’ ที่รวมงานคราฟต์จากช่างฝีมือท้องถิ่นไว้ด้วยกันหรือ ‘เบญจเมธา’ แบรนด์เซรามิกจากปัตตานีที่ใช้ดินจากพื้นที่ มาสร้างงานคราฟต์จนได้รับรางวัลระดับประเทศเป็นต้น และการหาข้อมูลเพิ่มเติมนี้รวมไปถึงการได้พูดคุยกับเจ้าของสถานที่เจ้าของงานสร้างสรรค์ หรือแม้แต่ผู้คนท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในพื้นที่นั้น
ปรุงเรื่องเล่าด้วย Dramatic Action
กลวิธีเล่าเรื่องจากการเขียนบทละครคือเล่าเรื่องให้มี Dramatic Action หมายถึงเน้นเล่าถึงการกระทำของตัวละครเป็นหลัก เรื่องที่จะเล่ามีตัวละครหลักเป็นใคร เขาทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ปูเรื่องให้ผู้อ่านรู้จักตัวละคร จากนั้นเล่าถึงอุปสรรคที่ตัวละครต้องเผชิญ จนกระทั่งตัวละครก้าวข้ามผ่านอุปสรรคนี้ไปได้อย่างไร และจบด้วยบทสรุปของเรื่องที่เล่ามา
ตัวอย่างเช่น ‘แพวผ้าฝ้าย’ แบรนด์ผ้าทอมือลายไทลื้อจากน่านของคุณแพว เจ้าของแบรนด์ที่มีต้นทุนติดลบ เรียนหนังสือไม่สูงเข้าเมืองหลวงมาเป็นสาวโรงงานรองเท้ากีฬา ชีวิตพลิกผันเพราะสามีเสียชีวิตทำให้เธอตัดสินใจกลับบ้านเกิดมาทอผ้าจากการทอผ้าปูที่นอนผืนละ 43 บาทจนกระทั่งถึงวันที่เสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ของแพวผ้าฝ้ายจัดจำหน่ายทั่วประเทศ เสื้อผ้าลายไทลื้อได้ลงปกนิตยสารจัดส่งไปให้ดาราใส่ ธนาคารทั้งในภาคเหนือและกรุงเทพฯ ขอให้เธอออกแบบเครื่องแบบให้โดยไม่ซ้ำกันและขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านเฮี้ย และร้อยกว่าชีวิตในหมู่บ้านให้มีงานประจำ
สิ่งที่เลือกมาเล่าคือความแตกต่างระหว่างดีไซเนอร์ในเมืองและช่างฝีมือท้องถิ่น จากต้นทุนที่ติดลบและการเริ่มต้นใหม่ในวัยทำงาน เธอไขว่คว้าโอกาสและหากลุ่มลูกค้าของตัวเองได้ จนกระทั่งตอนนี้ชีวิตดีขึ้น แบรนด์อยู่ได้ชุมชนอยู่ได้ การดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องเล่าและคุณแพวผู้ที่ไม่เคยหยุดเรียนรู้และพัฒนาจนสร้างแบรนด์นี้ให้เข้มแข็งขึ้นมา
จะเล่าเรื่องได้ต้องเข้าใจก่อน
จากประสบการณ์การเล่าเรื่องจุดหมายปลายทางทำให้เรียนรู้ว่าจะเล่าเรื่องเขาได้ ต้องเข้าใจเขาก่อน ต้องเข้าใจที่มาที่ไปของเขา เขาผ่านอะไรมาบ้าง เขาทำอะไรอยู่ สิ่งที่เขาทำมันดีอย่างไร แล้วเขาก้าวมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ในทำนองเดียวกัน ถ้าคนในพื้นที่จุดหมายปลายทางหรือเจ้าของงานสร้างสรรค์อยากเล่าเรื่องของตัวเอง พวกเขาจะต้องรู้จักตัวเองก่อนและสิ่งสำคัญของการทำความเข้าใจตัวเองคือเราจะได้เจออัตลักษณ์ของเรา และอัตลักษณ์นี้เองที่จะสร้างความโดดเด่นให้ต่างจากจุดหมายปลายทางอื่น เช่น สกลนครที่ใช้ครามเป็นจุดขายแม้จังหวัดอื่น ๆ ก็ปลูกต้นครามได้ แต่อัตลักษณ์คือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นสกลนคร ที่ส่งต่อกันมาตั้งแต่การปลูกครามจนไปถึงลายผ้าและแต่ละแบรนด์ในท้องที่ก็พยายามหาจุดเด่นของตนเอง และร่วมมือกันพัฒนากลุ่มช่างฝีมือให้เข้มแข็งพอพวกเขารู้จักตัวเองแล้วว่ากำลังทำอะไร และในทุกสิ่งที่ทำมีที่มาที่ไปที่พร้อมจะเล่าเรื่องเล่าของงานผ้าครามนี้จึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้ทั้งแบรนด์และชุมชนอย่างดี
จะเล่าอย่างไรก็ได้ขอแค่ให้เรื่องเล่านั้นยั่งยืน
การทำให้ยั่งยืนคือการกระจายเรื่องเล่าและการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ประเด็นแรกการกระจายเรื่องเล่า ความหมายก็เหมือนกับการกระจายรายได้ คือหากเราทำให้เรื่องเล่าที่น่าสนใจของประเทศไทยไม่ได้กระจุกอยู่แค่ที่กรุงเทพหรือเมืองใหญ่ ๆ อย่างเชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต แต่กระจายเรื่องเล่าให้อยู่ตามจุดหมายปลายทางต่าง ๆ กระตุ้นให้ผู้คนเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางอื่นมากขึ้น สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของทั้งชุมชนและธุรกิจไมซ์ที่นั่นให้ดีขึ้น จุดหมายปลายทางอยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้ ธุรกิจไมซ์ในพื้นที่อยู่ได้ ความยั่งยืนก็ตามมา
ประเด็นที่สอง เรื่องเล่าได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องยอมรับว่าปัจจัยและองค์ประกอบในแต่ละจุดหมายปลายทางต่างกัน บางแห่งมีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีพืชพรรณที่ดีที่ นำมาใช้ในการสร้างสรรค์งานได้ มีชุมชนที่เข็มแข็ง มีกลุ่มธุรกิจไมซ์ที่รวมตัวกันพร้อมเพรียงส่งเสริมให้เรื่องเล่าของจุดหมายปลายทางนั้นได้รับการจัดการอย่างดี ในขณะที่บางแห่งอาจจะมีพืชพรรณที่ดีมากแต่ชุมชนยังไม่พร้อม แน่นอนว่าควรมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปสนับสนุนให้จุดหมายปลายทางเข้มแข็ง เช่น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรืออพท. ที่เข้าไปช่วยจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน หรือมหาวิทยาลัยที่มีคณะออกแบบส่งทีมไปทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อออกแบบงานสร้างสรรค์ท้องถิ่น แต่หลายครั้งที่หลายหน่วยงานเข้าไปสนับสนุนแบบไม่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นแย่งกันสนับสนุนเมืองที่ดูมีศักยภาพ (หรือพูดง่าย ๆ ว่าขายได้) หรือให้การสนับสนุนแบบเดียวกันคือส่งดีไซเนอร์ไปออกแบบสินค้าให้เป็นครั้งคราว ทั้งที่แต่ละชุมชนมีความต้องการต่างกัน บางชุมชนอาจต้องการเรียนรู้การหาอัตลักษณ์ตนเอง การประชาสัมพันธ์หรือเพียงต้องการหากลุ่มลูกค้าใหม่
ดังนั้นการสนับสนุนควรปรับเปลี่ยนให้เข้ากับจุดหมายปลายทางแต่ละที่อย่างเข้าใจ ถ้าชุมชนนี้มีวัตถุดิบที่ดีหน่วยงานก็ควรส่งดีไซเนอร์เข้าไปสร้างกระบวนการให้ชุมชนได้ออกแบบงานฝีมืออัตลักษณ์ชุมชน ควบคู่ไปกับนักการตลาดที่จะมาช่วยส่งเสริมการจำหน่ายงานของเขา ที่สำคัญคือให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ในวันที่ไร้มือพยุงก็จะเป็นการช่วยเหลือที่ดีและยั่งยืนที่สุด
หรือดูบทความทั้งหมดของสตางค์ได้ที่