“Stand Where History Happened” คือคำโปรยชวนค้นหาจาก English Heritage องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ดำเนินการมายาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1882 ทำหน้าที่รักษา ฟื้นฟู และทำ “การตลาด” ให้แหล่งประวัติศาสตร์กว่า 400 แห่งทั้งประเทศอังกฤษ ถึงแม้มีภารกิจหลักเพื่อดูแลโบราณสถานแห่งชาติ แต่ English Heritage ไม่ยอมจำนนอยู่กับความ “โบราณ” ใช้กลยุทธ์การตลาดสื่อออนไลน์ช่วยนำเสนอจุดหมายปลายทาง ทำให้มีคนเข้าเว็บไซต์ขององค์กรจำนวนมหาศาล และมีนักเดินทางเยี่ยมชมโบราณสถานกว่า 6.4 ล้านคนต่อปี เรามาดูกันว่า English Heritage จะเปลี่ยนเรื่องราวในอดีตให้กลายเป็นเรื่องของคนในปัจจุบันได้อย่างไร?
เปลี่ยนประวัติศาสตร์ให้เป็น “ไลฟ์สไตล์” (Lifestyle)
English Heritage ทำให้ประวัติศาสตร์ไม่จบแค่ในหนังสือ แต่ยังคงหายใจและสอดคล้องไปกับวิถีชีวิตชาวอังกฤษใช้สื่อออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ โซเชียลมีเดียและยูทูปแชแนล เจาะความต้องการของนักเดินทางแต่ละกลุ่ม สร้างคอนเทนต์ (Content) โปรโมทโบราณสถานแบบดูได้ทุกวัน ไม่น่าเบื่อ ตั้งแต่คลิปสอนทำอาหารในยุควิกตอเรียน (Victorian Era) คลิปสอนแต่งหน้าแบบสาวยุคสงครามโลก วิธีทำคอกเทลแบบยุค 1930 ไปจนถึงคลิปสร้างแบบจำลองโบราณด้วยเกมส์ไมน์คราฟ (Minecraft) สำหรับเด็ก โดยทั้งหมดถ่ายทำ ณ โบราณสถานที่มีอยู่จริง พร้อมแนบลิงค์ไปสู่เว็บไซต์เพื่อเข้าถึงข้อมูลแบบง่าย ๆ คลิปเหล่านี้มียอดเข้าชม “หลักล้าน” มีคนสนใจแชร์ต่อมหาศาล กลยุทธ์นี้ทำให้เรื่องประวัติศาสตร์สามารถพูดถึงได้ ชมได้ แชร์ได้ทุกวัน สร้างการรับรู้ของจุดหมายปลายทางให้คนมาเยือนได้ทั้งปี ไม่มีเบื่อ
โปรโมทเมืองผ่านชีวิต “สาวใช้ก้นครัว”
English Heritage โปรโมทคฤหาสน์ Audley End House จุดหมายปลายทางโบราณยุค 1830 โดยนำเสนอชีวิตของ Avis Crocombe สาวใช้ยุควิกตอเรียน เจ้าของสูตรอาหารชั้นยอดที่มีชีวิตอยู่จริง ๆ ในคฤหาสน์หลังนั้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1880 Mrs. Crocombe กลับมามีชีวิตอีกครั้งผ่านการแสดงของนักแสดงมากฝีมือ เธอทำรายการนำเสนอสูตรอาหารยุควิกตอเรียนของแท้หลากเมนูจนมีแฟน ๆ ติดตามและมีผู้ชมหลักล้านในปี 2020 นี้ Mrs. Crocombe ยังคงนำเสนอเมนูอาหารของเธออยู่ สร้างชุมชนในโลกออนไลน์ให้พูดถึงอาหารและจุดหมายปลายทางยุควิกตอเรียนอย่างต่อเนื่อง และแน่นอนว่าทุกคลิปของเธอถ่ายทำในโบราณสถานของจริง พร้อมแนบลิงค์เข้าสู่ข้อมูลในเว็บไซต์ง่าย ๆ แค่ปลายนิ้วคลิก
งานไมซ์ในพื้นที่ประวัติศาสตร์
เว็บไซต์ English Heritage ใช้งานง่ายและดึงดูดความสนใจได้ดี นำเสนอหลากวิธีท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ให้เราลืมภาพการทัศนศึกษาแบบเดิม ๆ ที่น่าเบื่อ นอกจากนี้ในเว็บไซต์ยังนำเสนอโบราณสถานในฐานะ Venue ที่พร้อมต้อนรับงานไมซ์หลากหลายรูปแบบ ลูกค้าไมซ์สามารถจัดงานประชุมหรืออีเวนท์ในปราสาทอายุกว่าร้อยปี หรือคฤหาสน์สุดหรูในยุควิกตอเรียน ดื่มแอลกอฮอล์ได้ และอนุญาตให้จัดงานอีเวนท์เกินกว่าเวลาทำการ นี่เป็นตัวอย่างของหน่วยงานอนุรักษ์โบราณสถานที่หันมานำเสนอรูปแบบการจัดงานไมซ์ด้วยตัวเอง เชื่อมโยงอุตสาหกรรมไมซ์เข้ากับเสน่ห์เรื่องราวอดีต
English Heritage ทำหน้าที่ทั้งดูแลรักษาและทำการตลาดให้กับโบราณสถานในหน่วยงานเดียว เราจึงเห็นการนำเสนอจุดหมายปลายทางที่มีอิสระและสร้างสรรค์ นำเรื่องราวในอดีตมาเล่าต่อเพื่อคนในปัจจุบันด้วยรูปแบบที่เข้าถึงง่าย ทำให้คนอยากแชร์ต่อ จุดหมายปลายทางประวัติศาสตร์จึงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้
สำหรับประเทศไทย เรามีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่แข็งแรงเป็นจุดแข็งอยู่แล้ว ถ้าได้ลองปรับมุมกล้อง เล่าเรื่องเชื่อมโยงไปสู่คนรุ่นใหม่ ก็จะสร้างมูลค่าให้เมืองต่าง ๆ ได้เช่นกัน หากหน่วยงานที่ดูแลโบราณสถานของไทย ร่วมมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่น นักประวัติศาสตร์ และผู้สร้างคอนเทนต์ (Content Creator) ทำการตลาดให้กับเมืองประวัติศาสตร์ที่มีไลฟ์สไตล์โดดเด่น เช่น ล้านนา หรือสุโขทัยนำเรื่องการกินการอยู่มาเล่าใหม่ ให้จับใจนักเดินทางยุคปัจจุบัน น่าจะดึงดูดคนให้อยากมาเยือน และเพิ่มมูลค่าให้งานไมซ์ในพื้นที่นั้น ๆ ได้อีกมากทีเดียว
แหล่งข้อมูล
https://www.english-heritage.org.uk/
https://www.youtube.com/channel/UCHwNa3lAjzbxRR2pbbZUE2A
https://www.dailymail.co.uk/femail/article-6230301/Victorian-chef-YouTube-sensation.html