“มิลเลนเนียลส์” กลายเป็นคำพูดฮิตติดปากที่สะเทือนไปทุกวงการ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะในปี 2020 นี้ ชาวมิลเลนเนียลส์จะกลายเป็นกลุ่มคนทำงานที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก!
ชาวมิลเลนเนียลส์ (millennials) คือคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2524 ถึง 2539 เติบโตขึ้นมาพร้อม ๆ กับอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ทำให้พฤติกรรม ความสนใจ และจังหวะชีวิตของพวกเขาไม่เหมือนคนเจนอื่นๆ การจัดงานประชุมหรืออีเวนท์ที่จะมัดใจคนกลุ่มนี้ได้อาจจะต้องเติมสีสันและสร้างบรรยากาศแบบใหม่ เรามาดูกันดีกว่าว่าหลาย ๆ งานวิจัยจากทั่วโลกเขาบอกใบ้อะไรเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้บ้าง
แอคทีฟเข้าไว้ / มีอะไรให้แชร์
หมดยุคนั่งเฉยๆและตั้งใจฟังแล้ว เพราะคนในยุคมิลเลนเนียลส์กว่า 75% ให้คุณค่ากับเรื่องของประสบการณ์มากกว่าเรื่องอื่น ๆ งานไมซ์จะต้องสร้าง “ประสบการณ์”ที่ทำให้รู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งและอยากแชร์ ยิ่งเหนือความคาดหมายยิ่งมัดใจได้อยู่หมัด เช่น งาน Game On Exhibition and Festival 2018 ณ ประเทศจีน ที่ตกแต่งห้องจัดนิทรรศการสไตล์ Pixel เกมส์ยุคคลาสสิคที่หลายคนหลงรัก นอกจากนี้คนยุคมิลเลนเนียลส์กว่า 92% ยังมีสมาร์ทโฟน เป็นของตัวเองและ 85% ใช้สิ่งนี้เป็นช่องทางสื่อสารในโซเชียลมีเดียร์ ฉะนั้นสมาร์ทโฟนจึงเป็นอาวุธสำคัญที่สร้างอินเทอร์แอคทีฟระหว่างผู้ร่วมงานได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำโพลสำรวจ การโหวต การฟีดแบค หรืออาจเป็นกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ผู้เข้าร่วมได้ลงไม้ลงมือทำ เช่น งาน Coachella Valley Music and Arts Festival 2019 ที่นำเทคโนโลยี AR มาสร้างยานอวกาศและดวงดาวให้ล่องลอยอยู่กลางคอนเสิร์ตโดยผู้ชมสามารถเข้าถึงได้ผ่านสมาร์ทโฟนในมือตัวเอง
หายใจในยุคข้อมูลมหาศาล ต้อง Customer Centric กันให้สุดทาง
คนยุคมิลเลนเนียลส์ มีความชอบที่หลากหลายและเฉพาะตัวมากขึ้น งานไมซ์ในยุค 2020 จึงต้องใช้ประโยชน์ จากข้อมูลมหาศาลที่ได้จากผู้เข้าร่วมมาสร้างงานไมซ์แบบ Personalization ที่ยึดเอาความต้องการส่วนตัวของผู้ร่วมงานเป็นสำคัญ เติมความสนใจที่หลากหลายและเลือกได้ตามใจ ทำให้การมาร่วมงานมีมากกว่าเหตุผลเดียว ตัวอย่างเช่น งาน South by Southwest Music Festivals เทศกาลดนตรีที่ผนวกกับอีเวนท์ด้านสุขภาพกายและใจ หรืองาน Chicago Gourmet food festivals มหกรรมอาหารที่นำเสนอกิจกรรมโยคะยามเช้าให้กับผู้ร่วมงาน
Always casual and friendly : สบาย ๆ ไม่ว่าจะประเด็นไหนก็ตาม
ถึงแม้คนยุคมิลเลนเนียลส์จะรายล้อมไปด้วยเทคโนโลยี แต่คนยุคนี้ยังต้องการปฏิสัมพันธ์แบบพบหน้ากัน (Face-to-face) ชอบสื่อสารอารมณ์ ความรู้สึก และชอบเห็นรีแอคชั่นจากผู้ร่วมสนทนา ฉะนั้นการปรุงบรรยากาศของงานที่ชวนให้เกิดการพูดคุยจึงสำคัญยิ่ง เช่น การขยายช่วงเวลาของงานด้วย อาฟเตอร์ปาร์ตี้ ที่เคล้าสีสันของอาหารและเครื่องดื่ม หรือแนวคิดเรื่อง “การทำให้เป็นเทศกาล” (Festivalisation) ที่เติมเสน่ห์ของงานเทศกาลเข้าไปในงานประชุมที่จริงจัง เปลี่ยนจากการจัดเลี้ยงหรูหราเป็นฟู้ดทรัค (Food truck) ที่อร่อยและง่าย ได้เดินเลือกอาหารที่ถูกใจ ขยายช่วงเวลาสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น