Creative District คือโครงการยกระดับย่านเจริญกรุง-บางรัก ให้กลายเป็น “ย่านสร้างสรรค์” ที่เล่าเรื่องศิลปะผสานไปกับวิถีชีวิตชุมชน ริเริ่มโดยกลุ่มคนที่เชื่อว่า “ย่าน” สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ กลายเป็นต้นแบบการโปรโมทพื้นที่ด้วยต้นทุนต่ำแต่ได้ประโยชน์ยั่งยืน และที่สำคัญย่านต่าง ๆ ในเมืองไมซ์ของไทยที่มีสไตล์ของตัวเอง ก็สามารถทำตามได้น่าสนใจไม่แพ้กัน เรามาถอดบทเรียนกันว่า Creative district จะปลุกย่านประวัติศาสตร์แห่งนี้ให้กลับมาคึกคักอย่างไร
เมื่อทั้ง “ย่าน” เล่าเรื่องเดียวกัน จึงเกิดสีสันและเสน่ห์
เสน่ห์ที่แท้จริงของย่านไม่ใช่แค่สถานที่ แต่คือวิถีชีวิตผู้คนย่านสร้างสรรค์จึงเป็นการเดินหน้าร่วมกันระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน และผู้คนในชุมชนที่ Creative District เราได้เห็นภาคเอกชนเริ่มเปิดตัวโรงแรมบูติคโฮเต็ลใหม่ ๆ มีแกลอรี่ศิลปะมากกว่า 10 แห่ง รวมถึงพื้นที่รองรับงานไมซ์สร้างสรรค์อย่าง Warehouse 30 หรือ The jam factory นอกจากนี้ยังมีเทศกาลศิลปะที่ชุมชนมีส่วนร่วมได้ตลอดทั้งปี ย่านที่เติบโตคือโอกาสใหม่ของงานไมซ์ ลองนึกภาพการจัดประชุมในบรรยากาศชุมชนสร้างสรรค์ หรือการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลแบบดื่มด่ำกับศิลปะ น่าจะสร้างความตื่นเต้นให้นักเดินทางไมซ์ได้ดีทีเดียว
“การเล่าเรื่อง” คือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นทุนต่ำ
“การเล่าเรื่องพื้นที่” คือการโปรโมทย่านที่ต้นทุนต่ำเพราะอาศัยแรงเล็ก ๆ จากทุกส่วนในชุมชนช่วยกันเล่าเรื่องแต่ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งย่านเมื่อเปรียบเทียบกัน หากเราลงทุนมหาศาลกับการสร้างสุดยอดสวนสนุกสักแห่ง เราอาจดึงนักเดินทางได้เพียงจุดเดียวแต่ถ้าทั้งย่านร่วมสร้างเรื่องราวไปด้วยกัน ย่านแห่งนั้นจะกลายเป็นจุดหมายปลายทางขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยหลากประสบการณ์ Creative District ได้ริเริ่มโครงการเล็ก ๆ แต่น่าดึงดูดมากมายอาทิ เทศกาลแบงค็อกดีไซน์วีค 2019 ที่กระจายศิลปะไปอยู่ตามตรอกของชุมชนเจริญกรุงใช้ต้นทุนไม่สูงแต่สามารถดึงให้คนต่างถิ่นให้มา “เดินเท้า” ชมงานศิลปะในพื้นที่ได้จำนวนมาก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ….สามกุญแจสำคัญในการเล่าเรื่อง
ศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ คือต้นทุนที่ดีที่สุดในการเล่าเรื่องย่าน การร้อยเรื่องราวด้วยต้นเรื่อง (Theme) เดียวกันนี้ จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่หาจากที่อื่นไม่ได้ ย่านเจริญกรุง คลองสาน บางรัก มีร่องรอยประวัติศาสตร์เป็นต้นทุนอยู่แล้วทั้งอาคารเก่าและผู้คน เมื่อใช้ศิลปะเข้ามาฟื้นฟู ดึงศิลปินมาสร้างสีสัน ย่านจึงกลับมามีชีวิตอีกครั้ง Theme ในการเล่าเรื่องย่านอาจไม่จบแค่ศิลปะทั้งย่านวัฒนธรรม ย่านธุรกิจ หรือแม้แต่ย่านการศึกษา ก็อาจเป็นตัวเลือกที่ช่วยยกระดับงานไมซ์ในชุมชนได้เช่นกัน
น่าดีใจที่ตอนนี้เราได้เห็นหลายย่านในเมืองไมซ์เริ่มเล่าเรื่องของตัวเอง อาทิ ย่านศรีจันทร์ในขอนแก่นที่ยกเอาโมเดลแบบเจริญกรุงไปเล่าเรื่อง โคราชที่กำลังก้าวสู่เมืองศิลปะยั่งยืนหรือการกลับมาเล่าเรื่องราวชาวเพอรานากัน (Peranakan) อีกครั้งของภูเก็ต การต่อยอดชื่อเสียง (Legacy) ที่มีแต่เดิม ด้วยแนวคิดที่ร่วมสมัยและตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ จะช่วยให้งานไมซ์ของไทยเป็นตัวเลือกที่โดดเด่น หากนักเดินทางกลุ่มไมซ์สนใจมาจัดงานประชุม หรือท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลในย่านสร้างสรรค์ของคุณ น่าจะนำโอกาสใหม่ ๆ ทั้งรายได้และคุณภาพชีวิตมาสู่เมืองไมซ์ได้อีกมากทีเดียว